โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
ข่าวกิจกรรม
เกี่ยวกับโครงการ
ประวัติความเป็นมา กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ได้จัดตั้งสำนักงานพัฒนาพื้นที่ชายแดนขึ้น เมื่อปี ๒๕๒๙ และได้ร่วมกับจังหวัดศรีสะเกษ ดำเนินการขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลา บริเวณบ้านตะแบงและบ้านโคกใหญ่ อำเภอขุขันธ์ (ในขณะนั้น) จังหวัดศรีสะเกษ จากกรมป่าไม้ ในปี 2532 เพื่อจัดตั้ง “โครงการระบบผลิตพลังงานแก๊สชีวมวลในชนบท” พื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎร
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร บริเวณที่ว่าการกิ่งอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ จากที่ได้ทรงไต่ถามความทุกข์สุขของราษฎรทำให้ทราบว่า ราษฎรในกิ่งอำเภอภูสิงห์ ไม่เพียงแต่ยากจนเท่านั้น แต่ต้องประสบกับความอดอยากไม่มีแม้แต่ข้าวที่จะประทังชีวิตและอยู่รอดได้ เนื่องจากฝนทิ้งช่วงติดต่อกันหลายปี ทำให้การทำนาและทำไร่ ซึ่งเป็นอาชีพหลักไม่ได้ผล พระองค์ได้ทรงปรึกษากับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่เฝ้ารับเสด็จเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือราษฎร จึงได้พระราชดำริ สรุปความว่า “ให้ส่วนราชการต่าง ๆ ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรเบ็ดเสร็จ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ซึ่งประกอบอาชีพทำนาไม่ได้ผล ในลักษณะเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
และในเดือนมกราคม 2538 นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) มีคำสั่งที่ 1/2538 เรื่อง แต่งตั้งองค์กรดำเนินงานศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อจัดทำแผนงานแผนปฏิบัติการ รวมทั้งควบคุม ดูแลให้คำแนะนำการปฏิบัติงานของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ
โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช เป็นหน่วยงาน 1 ใน 14 หน่วยงาน ที่สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการภายในศูนย์ โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อสนองแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เกี่ยวกับการ ให้คนอยู่ร่วมกับป่า โดยไม่ทำลายป่า ที่ทรงพระราชทานไว้เมื่อ ครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร ณ โรงเรียนบ้านพนมชัย หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยตามอญ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2548 อีกทั้ง การดำเนินการยังยึดหลักให้สอดคล้องกับภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ พัฒนา ฟื้นฟูและคุ้มครองพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา จังหวัดศรีสะเกษและพื้นที่รอบแนวเขตเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักในการดำเนินการ รวมทั้ง อีก 7 ตำบล 86 หมู่บ้านของอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และจะได้ขยายผลสู่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอต่างๆ ในจังหวัดศรีสะเกษ ต่อไป
วัตถุประสงค์การดำเนินงานของโครงการ
1) สืบสาน รักษา ต่อยอด การดำเนินงานตามพระราชดำริ มาประยุกต์ปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎร
2) เพื่ออนุรักษ์พัฒนา ฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่าไม้
3) เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยชุมชนมีส่วนร่วม โดยการเสริมสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชน
4) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1) ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการอนุรักษ์ และฟื้นฟู
2) เกิดแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยชุมชนมีส่วนร่วม โดยการเสริมสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชน
3) คุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการเข้าไปหาประโยชน์จากป่าอนุรักษ์


