
ภาพกิจกรรมในโครงการ
การจัดตั้งศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรมแขวงสะหวันนะเขต เป็นดำริของเจ้าแขวง
แขวงสะหวันนะเขต (ท่านวิไลวัน พมเข ในขณะนั้น) โดยเมื่อวันที่20 มกราคม 2553 เจ้าแขวง
แขวงสะหวันนะเขต ได้มีหนังสือถึงเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทร์ และดร. ทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาว ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาและบริการความรู้ทางด้านกสิกรรมในลักษณะเดียวกับศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน – ห้วยซั้ว ขึ้นที่แขวงสะหวันนะเขต และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2553 ดร. ทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาว ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรในลักษณะเดียวกันกับศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน – ห้วยซั้ว ขึ้นที่แขวงสะหวันนะเขต
ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานความร่วมมือตามคำกราบบังคมทูลของรัฐบาลลาว และทรงมอบหมายให้มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการความร่วมมือดังกล่าว โดยในเบื้องต้นแขวงสะหวันนะเขตจัดพื้นที่สำหรับจัดตั้งศูนย์ฯ ไว้ 2 แห่ง ได้แก่ (1) พื้นที่บ้านนาจิหรีด กลุ่มบ้านที่ 11 เมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต และ (2) พื้นที่หนองเต่า บ้านโพนสิม กลุ่มบ้านที่ 10 เมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต
ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเยือนและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ โครงการศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรมแขวงสะหวันนะเขต บ้านโพนสิม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ความโดยสรุปว่า ให้ฟื้นฟูสภาพโดยดำเนินการปลูกไม้เนื้อแข็งให้มีความเขียวชอุ่มตลอดปี โดยให้พัฒนาไม้ที่เหมาะสมในพื้นที่มาปลูก เช่น ยางนา สะเดา ไผ่ จำปาลาว และจำปีสิริธร ในพื้นที่โครงการศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรมแขวงสะหวันนะเขต บ้านโพนสิม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
ศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรมแขวงสะหวันนะเขต ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนดงนาตาด ห่างจากบ้านโพนสิม เมืองไกสินพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขตไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 3.5 กิโลเมตรและห่างจากตัวเมืองไกสินพมวิหาน เป็นระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร โครงการมีเนื้อที่ทั้งหมด 263 ไร่ (42 เฮกตาร์) ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการเกษตรโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแบบศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน – ห้วยซั้ว ใน 7 สาขาหลัก ได้แก่ (1) การพัฒนาดินโดยกรมพัฒนาที่ดิน (2) การปลูกพืชและผลไม้ โดยกรมวิชาการเกษตร (3) การปลูกข้าว โดยกรมการข้าว (4) งานปศุสัตว์
โดยกรมปศุสัตว์ (5) งานประมง โดยกรมประมง (6) งานชลประทาน โดยกรมชลประทาน (7) งานป่าไม้ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทั้งนี้ นอกจากการพัฒนาศูนย์ฯ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านกสิกรรมแล้ว คณะทำงานยังมีแนวคิดพัฒนาศูนย์ฯ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และวัฒนธรรมด้วย
วัตถุประสงค์
- เพื่อสร้างแหล่งอาหารให้กับชุมชน
- เพื่อลดการเข้าไปหาของป่าในป่าธรรมชาติ
- เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ